แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็กอายุ 6-11 ปี (ฉบับย่อ)

การประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก

การประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็กจะช่วยให้พ่อแม่/ผู้ปกครองได้ทราบถึงจุดดีจุดเด่นของลักษณะความฉลาดทางอารมณ์ที่ควรส่งเสริม และจุดอ่อนที่ควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งสามารถใช้ในการติดตามเพื่อดูพัฒนาการทางอารมณ์ว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

การประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก จะประเมินคุณลักษณะ 3 ด้าน คือ

1. ด้านดี เป็นความพร้อมทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยประเมินจากการควบคุมอารมณ์การใส่ใจและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น และการยอมรับผิด

  • ควบคุมอารมณ์ ผู้ใหญ่ควรสอนเด็กว่าอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น โกรธ เสียใจ อิจฉา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่ต้องรู้จักควบคุม เพราะหากไม่ควบคุมจะเกิดผลเสียติดตามมา เช่น ทะเลาะวิวาท ไม่มีใครอยากพูดด้วย ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง โดยรู้อารมณ์ตัวเอง ยอมรับและหาทางจัดการกับอารมณ์นั้นในทางที่เหมาะสม เช่น หันไปสนใจเรื่องอื่น นับ 1-10 หากเด็กควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ผู้ใหญ่ควรชมเชย ถ้าในสถานการณ์นั้นเด็กยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ให้เด็กเดินเลี่ยงไปก่อน หลังจากนั้นให้เด็กรู้จักระบายอารมณ์ในทางที่เหมาะสม เช่น พูดคุย เตะบอล เป็นต้น

  • ใส่ใจและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น ผู้ใหญ่ควรฝึกให้เด็กรู้จักรับฟังผู้อื่น และกล่าวให้กำลังใจหรือปลอบใจผู้อื่นเวลาที่เขาไม่สบายใจ เพราะการรับฟังผู้อื่นจะทำให้รู้ว่าผู้อื่นคิดอย่างไร เข้าใจคนอื่นมากขึ้นมีเพื่อนมากขึ้น เหมือนกับการผูกมิตรต้องผูกที่ใจ

  • ยอมรับผิด เมื่อเด็กทำผิด ผู้ใหญ่ควรบอกเด็กว่าเด็กทำอะไรผิด ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร และให้โอกาสเด็กชี้แจงเหตุผล ส่วนเกณฑ์ในการลงโทษเป็นเรื่องที่ตกลงกันว่าจะยอมรับโทษมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ควรพยายามหลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยอารมณ์ การด่าทอหรือใช้คำพูดที่รุนแรง และเฆี่ยนตี เช่น อาจลงโทษโดยการตัดค่าขนม งดออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนชั่วคราว งดดูรายการทีวีหรือเล่นเกม เป็นต้น ถ้าเด็กยังไม่รู้สึกผิด ทำผิดซํ้าอีก อาจใช้การตีเตือนให้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง เพื่อเป็นการหยุดพฤติกรรม

2. ด้านเก่ง คือความพร้อมที่จะพัฒนาตนไปสู่ความสำเร็จ โดยประเมินจากการมุ่งมั่นพยายาม การปรับตัวต่อปัญหา และการกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม

  • มุ่งมั่นพยายาม ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กมีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้นานขึ้นและทำให้สำเร็จ เช่น การอ่านหนังสือ หรือการทำการบ้าน โดยอาจพูดว่า “ตั้งใจอ่านนะลูก” หรือ “ทำให้สำเร็จนะลูก” หรือสอนให้เด็กให้กำลังใจตนเอง เช่น “เกือบจะเสร็จแล้ว” “ทนอีกนิด” “ฉันต้องทำได้” เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้นานขึ้นและทำจนสำเร็จ

  • ปรับตัวต่อปัญหา การฝึกให้เด็กแก้ไขปัญหาจะทำให้เด็กพึ่งตนเองได้ ผู้ใหญ่ควรให้เด็กมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง สอนว่าการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย หัดให้เด็กหาสาเหตุของปัญหา หาทางออกของปัญหาหลายๆ ทาง และเลือกทางออกที่มีผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นน้อยที่สุด

  • กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กพูดถึงความรู้สึกและความคิดเห็นหรือความสามารถของตนเอง กระตุ้นหรือสนับสนุนเมื่อเด็กมีท่าทีต้องการ การแสดงออกและความชื่นชมจะทำให้เด็กมีความมั่นใจและมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

3. ด้านสุข คือความพร้อมทางอารมณ์ที่ทำให้เกิดความสุข โดยประเมินจากการมีความพอใจในตนเอง การรู้จักปรับใจ และความรื่นเริงเบิกบาน

  • พอใจในตนเอง ผู้ใหญ่ควรยกย่องชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ เพื่อให้เด็กรู้สึกภูมิใจ หากเด็กรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย สู้คนอื่นไม่ได้ ผู้ใหญ่ควรให้กำลังใจว่าแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ไม่มีใครที่เก่งหมดทุกอย่าง

  • รู้จักปรับใจ ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักปรับใจ โดยเมื่อเด็กรู้สึกผิดหวัง ผู้ใหญ่ควรตั้งคำถามเพื่อให้เด็กทำความเข้าใจกับปัญหา ได้คิดและรู้จักทำใจบ้าง เช่น ถามว่า ถ้าไม่ได้เล่มเกม หนูจะเล่นอะไรแทนได้บ้าง หรืออาจจะให้เด็กรู้จักชะลอเวลาที่จะได้สิ่งที่ต้องการ เช่น ให้สะสมเงินค่าขนมเพื่อซื้อของเล่น เป็นต้น

  • รื่นเริงเบิกบาน เวลาที่เด็กอารมณ์ไม่ดี ผู้ใหญ่ควรแนะนำให้เด็กรู้จักผ่อนคลายอารมณ์ของตนเอง เช่น อ่านการ์ตูนขำขัน ดูหนังหรือฟังเพลงที่สนุกครึกครื้น วาดรูป พูดคุยหรือเล่นสนุกสนานกับเพื่อน เป็นต้น หรือพ่อแม่อาจหาสิ่งที่เด็กชอบเล่นแล้วสนุกสนาน ให้ทำในยามว่างเพื่อความสุขร่วมกัน

ในการประเมินจะเป็นคำถามที่พ่อแม่/ผู้ปกครองตอบเกี่ยวกับเด็กในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยเลือกคำตอบที่ใกล้เคียงกับตัวเด็กที่เป็นอยู่จริงมาที่สุด

  • ไม่เป็นเลย หมายถึง ไม่เคยปรากฏ
  • เป็นบางครั้ง หมายถึง นานๆ ครั้งหรือทำบ้างไม่ทำบ้าง
  • เป็นบ่อยครั้ง หมายถึง ทำบ่อยๆ หรือเกือบทุกครั้ง
  • เป็นประจำ หมายถึง ทำทุกครั้งเมื่อเกิดสถานการณ์นั้น

ข้อมูลและทรัพยากร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฟิลด์ ค่า
* ประเภทชุดข้อมูล ข้อมูลระเบียน
ยินยอมให้นำชื่อชุดข้อมูลไปใช้ที่ GD-Catalog ยินยอม
* ชื่อผู้ติดต่อ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต
* อีเมลผู้ติดต่อ adminweb@rajanukul.go.th
* วัตถุประสงค์
  • เพื่อการให้บริการประชาชน
  • พันธกิจหน่วยงาน
  • ดัชนี/ตัวชี้วัดระดับนานาชาติ
* หน่วยความถี่ของการปรับปรุงข้อมูล ไม่ทราบ
ค่าความถี่ของการปรับปรุงข้อมูล (ความถี่น้อยที่สุด)
* ขอบเขตเชิงภูมิศาสตร์หรือเชิงพื้นที่ ไม่มี
* แหล่งที่มา โครงการ เดินหน้า สร้างเด็กไทย ไอคิวดี
* รูปแบบการเก็บข้อมูล PDF
* หมวดหมู่ข้อมูลตามธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ข้อมูลสาธารณะ
* สัญญาอนุญาตให้ใช้ข้อมูล License not specified
เงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูล
ผู้สนับสนุนหรือผู้ร่วมดำเนินการ
หน่วยที่ย่อยที่สุดของการจัดเก็บข้อมูล
URL
ภาษาที่ใช้ ไทย
วันที่เริ่มต้นสร้าง
วันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด
ชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูง
ข้อมูลอ้างอิง
สร้างในระบบเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566
ปรับปรุงครั้งล่าสุดในระบบเมื่อ 7 เมษายน 2566